สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัติยราชนารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัติยราชนารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัติยราชนารี
เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีการศึกษา 2564-2565 (ครั้งที่ 45) วันแรก

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 12.35 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีการศึกษา 2564-2565 (ครั้งที่ 45) เป็นวันแรก ซึ่งมีบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน 1,286 ราย แยกเป็นระดับบัณฑิตศึกษา(ป.โท – ป.เอก) จำนวน 121 คน พระดุษฎีบัณฑิต จำนวน 1 รูป และระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 1,164 คน มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ 5 คน และรับโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น 5 คน ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีรากฐานทางการเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ มีวิสัยทัศน์เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความเป็นเลิศทางการเกษตรในระดับนานาชาติ” และพร้อมก้าวสู่ทศวรรษใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลง การเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม2 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ของประเทศในการพัฒนาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ ด้วยแผนพัฒนาความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ.ศ.2566-2570 “พลิกโฉมมหาวิทยาลัยสู่การสร้างบัณฑิตผู้ประกอบการเศรษฐกิจสร้างคุณค่า ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ” ได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติจำนวนมาก ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่นพัฒนาบัณฑิตสู่ความเป็นผู้อุดมด้วยปัญญา อดทน สู้งาน เป็นผู้มีคุณธรรม และจริยธรรมเพื่อความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาของสังคมไทยที่มีการเกษตรเป็นรากฐาน ซึ่งอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของบัณฑิตแม่โจ้ คือ “เป็นนักปฏิบัติทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชา” เป็นที่ประทับใจและเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเจอ เป็นนักจิตอาสา เป็นที่พึ่งของชุมชนและสังคม นอกจากด้านการผลิตบัณฑิตแล้ว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังได้สนับสนุนและส่งเสริมด้านการวิจัยที่ต่อยอดองค์ความรู้จนเกิดเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับชาติและนานาชาติ สามารถนำไปช่วยเหลือ พัฒนาภาคการเกษตรของไทยได้อย่างแท้จริง

ในการนี้

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ (แม่โจ้รุ่น 51 ) อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
รับพระราชทาน ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ดิจิทัลและการสหกรณ์
พลตำรวจโท ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5
รับพระราชทาน ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารศาสตร์
นายรุ่งอรุณ การรัตน์ (แม่โจ้รุ่น 59) ประธานกรรมการบริษัท ซิลเวอร์ ฟาร์ม เซ็นเตอร์ จำกัด
รับพระราชทาน ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์
Mrs.Zhu Guiling (นางจู กุ้ยหลิน) Chairman of Guangxi University of Foreign Languages
รับพระราชทาน ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารศาสตร์
Mrs. Chen-Ming Cho (นาง เฉิน-หมิง จั๋ว) ประธานกรรมการ Toucheng Leisure Farm
รับพระราชทาน ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว

ผู้ได้รับพระราชทานโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น ประจำปี 2565 จำนวน 5 คน ได้แก่
นายสุรเดช ปรีชาหาญ ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 45 เจ้าของธุรกิจเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร

นายเทพนคร เปี่ยมเพ็ชร์ ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 47 ที่ปรึกษา สำนักวางแผนผลิตภัณฑ์และโครงการพิเศษ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์

นางณิชสาคร พรมลี ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 54 กรรมการบริหาร บริษัท สยามสตาร์ ซีดส์ จำกัด และบริษัท บ้านนอกคอกนา จำกัด

นายสุวัฒน์ มัตราช ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 55 ปศุสัตว์จังหวัด อำนวยการระดับสูง )ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน วิชาการสัตวบาล)) สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเลย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี ดร.นิโรจน์ สินณรงค์ . ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 64 ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้

โอกาสนี้ พระราชทานพระโอวาท แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ดังนี้

” ท่านทั้งหลายคงทราบและตระหนักเป็นอย่างดีแล้ว ถึงการเปลี่ยนแปลงผันผวน อย่างรวดเร็วของสถานการณ์โลก
โดยเฉพาะวิกฤติการณ์ด้านอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพนับเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ในการนี้ การพัฒนาด้านเกษตรกรรม ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ต้องอาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องกำกับเพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งอย่างยั่งยืน

จึงขอให้บัณฑิตทุกคนนำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณา เพื่อร่วมกันสร้างเสถียรภาพทางอาหารให้แก่ประเทศของเรา อันจะนำมาซึ่งความผาสุกมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า ทั้งแก่ประชาชนและประเทศชาติสืบไป”

 

แชร์เลย :