- ข่าวเชียงใหม่
- No Comment
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่
วันนี้ (12 ก.พ. 66) เวลา 18.05 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 , ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, ผู้บังคับการกองบิน 41 พร้อมข้าราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
ในการนี้ เสด็จขึ้นแท่นทรงรับการถวายความเคารพจากกองทหารเกียรติยศเมื่อทรงตรวจแถวกองทหารเกียรติยศแล้วประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ
จากนั้น ในเวลา 18.42 นาที เสด็จพระราชดำเนินถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ในการนี้ ทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้นบนเนื้อที่ 21 ไร่ 9 ตารางวา เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการวิจัยและพัฒนางานบนพื้นที่สูง ทั้งยังจะเป็นศูนย์กลางการวิจัย การบุกเบิกองค์ความรู้ใหม่เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้งานโครงการหลวงเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เริ่มสร้างปี 2563 แล้วเสร็จปี 2565 พระราชทานนามว่า“ชนกาธิเบศรดำริ” มีความหมายว่า เป็นศูนย์รวมการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สืบสาน รักษา และต่อยอด ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะสร้างประโยชน์ทั้งแก่ประชาชนบนพื้นที่สูง ประชาชนในพื้นที่โดยรอบและประชาชนโดยรวมของประเทศ
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการหลวงจุดเล็ก ๆ สู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ จัดแสดงผลสำเร็จจากการดำเนินงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2565 ซึ่งพัฒนาการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเผยแพร่องค์ความรู้ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งยัง เกิดผลงานวิจัยพันธุ์พืชหลากหลายชนิด มีผลิตภัณฑ์ เครื่องมือ และนวัตกรรมใหม่ๆ , การพัฒนาหัตถกรรมและกัญชง ตั้งแต่ปี 2536 มูลนิธิฯ ได้ส่งเสริมหัตถกรรมชนเผ่าแก่กลุ่มสตรีและกลุ่มแม่บ้าน ส่วนกัญชงขึ้นทะเบียนพันธ์ุได้แล้ว 8 พันธ์ุ พร้อมส่งเสริมเกษตรกรปลูก แปรรูป และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชงอย่างถูกต้อง, พันธุ์พืชพระราชทานได้รับพระราชทานเอเดลไวส์ 10 กระถาง และเจนเทียน 4 กระถาง เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนา ปัจจุบัน ประสบผลสำเร็จในการศึกษาวิธีการขยายพันธุ์เอเดลไวส์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนเจริญเติบโตและออกดอกได้มากกว่า 4,450 ต้น ส่วนเจนเทียน เป็นพันธ์ุพืชใหม่อยู่ระหว่างการศึกษาและขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทั้งยัง มีโรงเรือนรวบรวมพันธุ์พืชพระราชทาน “สิริวัณณวรี Botanical Garden” มีพันธุ์พืชพระราชทานกว่า 40 สายพันธุ์
ในการนี้ ทรงรับฟังการถวายรายงานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์อาคารศูนย์วิจัยฯ มีอาคารทำการ 7 หลัง อาทิ อาคารอำนวยการ เป็นห้องรับรอง ห้องอเนกประสงค์ ห้องทำงานคณะผู้บริหารที่ปรึกษา และห้องปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่, อาคารปฏิบัติการ 1 มีห้องประชุมขนาดใหญ่ ห้องรับรองวิทยากร ห้องประชุมขนาดกลาง ห้องรับประทานอาหาร และมีห้องสมุด สตูดิโอถ่ายภาพ-บันทึกเสียง ห้องปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ , อาคารอารักขาพืช ใช้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชบนที่สูง งานพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม การจัดทำระบบฐานพันธุกรรมบนพื้นที่สูง งานด้านคลินิกพืช ห้องทำการ ศูนย์ปฏิบัติการเตือนการระบาดศัตรูพืชบนพื้นที่สูง และห้องคลินิกพืช พร้อมกันนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ เจ้าหน้าที่โครงการหลวงเลอตอ จังหวัดตาก รวมถึงชาวบ้านและเกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอญอ ซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนางานโครงการหลวง เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูง ตลอดจนราษฎรทั่วประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีรายได้ที่มั่นคง
ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กองแพทย์หลวง สำนักพระราชวัง ร่วมกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ให้บริการพิมเสนน้ำและผ้าเย็นแก่ราษฎรชาวไทยภูเขาที่ส่วนใหญ่เป็นชาวลาหู่ ไทลื้อ คะฉิ่น อาข่า และดาราอั้ง ซึ่งเดินทางมาจากพื้นที่สถานีวิจัยและพัฒนาโครงการหลวงในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ โดยพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดประจำชนเผ่ามารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จด้วยความจงรักภักดีอย่างเนืองแน่น
CR : สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่