- ข่าวต่างจังหวัด
- No Comment
สทนช.เดินหน้าศึกษาแผนบูรณาการ แก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก พื้นที่เฉพาะ(Area Based) เชียงใหม่-ลำพูน เพื่อสร้างสมดุลน้ำอย่างยั่งยืน
สทนช.เดินหน้าศึกษาแผนบูรณาการ แก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก พื้นที่เฉพาะ(Area Based) เชียงใหม่-ลำพูน เพื่อสร้างสมดุลน้ำอย่างยั่งยืน
วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2566) ที่โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานก่อสร้างประตูระบายน้ำเหมืองจี้ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยมีพันตรี ชนินทร พุฒิเศรษฐ์ นายกเทศมนตรีตำบลเหมืองจี้ พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านฝั่งหมิ่นและประชาชนในพื้นที่ร่วมให้ข้อมูล
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผย ภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ(AreaBased) เชียงใหม่-ลำพูนว่าคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มอบหมายให้ สทนช.จัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ กำหนดพื้นที่เฉพาะหรือ AreaBased พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม/ภัยแล้งซ้ำซากหรือปัญหาอื่นๆ ของทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาวิกฤตรวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาลและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งหมด 66 พื้นที่ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เป็นพื้นที่เศรษกิจที่สำคัญ เป็น 1 ใน 66 พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรมมีความยั่งยืนทุกมิติ ทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน สทนช.ได้ทำการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการในพื้นที่เฉพาะ เชียงใหม่-ลำพูน มุ่งเน้นศึกษาและทบทวนโครงการที่แก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน และแผนงานโครงการในอนาคตในพื้นที่เป้าหมายจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมาบูณาการกันให้โครงการต่างๆ สอดคล้องและสนับสนุนกัน ไม่ซ้ำซ้อน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
สำหรับ โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำจังหวัดลำพูน เป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตร เป็นอีกหนึ่งโครงการเร่งด่วนเนื่องจากปัจจุบันตัวฝายได้รับความเสียหายจากน้ำหลากในลำน้ำแม่ทาส่งผลให้ไม่สามารถทดน้ำ
เข้าลำเหมืองเพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้ ทำให้ราษฎรในพื้นที่ประมาณ 3,200 ไร่ จำนวน 168 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค ทั้งนี้สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน5 ช่องสามารถระบายน้ำได้ 450 ลบ.ม./วินาที วิกฤต 250 ลบ.ม./วินาที อาคารป้องกันตลิ่งด้านเหนือน้ำและด้านท้ายน้ำ พร้อมระบบส่งน้ำ เมื่อก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำเหมืองจี้แล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่โครงการประมาณ 6,900ไร่ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำน้ำแม่ทาบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่โครงการ และราษฎรในเขตพื้นที่โครงการ จำนวน 3,648 ครัวเรือน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีผลผลิตและรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น โดยแผนงานเร่งด่วนที่วางไว้ ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ โดยการบริหารจัดการน้ำแม่กวง ซึ่งเป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำกวงที่มีลักษณะโครงการคล้ายกับประตูระบายน้ำเหมืองจี้ ซึ่งจะส่งผลให้สิ่งปลูกสร้างในลำน้ำแม่กวงมีประสิทธิภาพสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและสนับสนุนภาคการเกษตรได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณที่มา : นายณัฐวุฒิ อินทร์ใจ ผู้สื่อข่าว ส.ปชส.ลำพูน
บรรณาธิการ : นางสาวมัณฑนา อาษากิจ ประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่… https://lamphun.prd.go.th/th/page/item/index/id/12
#PRLAMPHUN
#ลำพูนไม่ลำพังรวมพลังเพื่อคนลำพูน