- ข่าวต่างจังหวัด
- No Comment
ผู้ว่าฯ ลำพูน พร้อมด้วย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ผู้ว่าฯ ลำพูน พร้อมด้วย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
(11 ก.พ. 66) เวลา 11.50 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังหอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นางดวงกมล ยิ้มละมัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน พัฒนาการจังหวัดลำพูน ผู้ประกอบการ OTOP ของจังหวัดลำพูน รวมถึงตัวแทนจังหวัดจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมรับเสด็จ
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรการแสดง “ยินดีเจ้า” ซึ่งเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมของทางภาคเหนือ โดยนักแสดงในพื้นที่ และต่อมา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคเหนือ ตามโครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรม ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 35 กลุ่ม เข้าร่วมจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ จากนั้น พระราชทานพระวโรกาสให้ กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและหัตถกรรม ถวายรายงานส่งการบ้านผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาตามพระวินิจฉัย จำนวน 15 กลุ่ม พร้อมกันนี้ โปรดให้คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ร่วมให้คำแนะนำแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรม ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสมัยนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคต่อไป และก่อนเสด็จกลับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรนิทรรศการการสาธิตและการแสดงกระบวนการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น นิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค และการแสดง “ฟ้อนเจียงฮายเมืองงาม”
“โครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของจังหวัดในพื้นที่ 4 ภูมิภาค เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการจำหน่ายผ้าไทย ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน โดยผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP มีผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย จะได้รับความรู้การยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทรนด์สีสัน และเทรนด์แฟชั่นผ้าไทย การออกแบบคอลเลกชั่นผ้าไทย การเลือกใช้เส้นใยที่มีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย และการสร้างแบรนด์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย มีผลงานผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย และสามารถนำไปออกแบบและตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความทันสมัย สวมใส่ในชีวิตประจำวันเหมาะกับทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการดังกล่าวฯ ทำให้เกิดแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่ ผู้ที่สนใจสามารถนำไปประกอบอาชีพได้และเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และยังเป็นแบบอย่างในเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก Bio-Circular-Green Economy: BCG สร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนทอผ้า คนย้อมผ้า และอาจส่งผลไปถึงผู้สวมใส่หากใช้สารเคมี ในการย้อมผ้า อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีการส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งตนเองได้ด้วย”
ขอบคุณที่มา : กองสารนิเทศ สป.มท.